ฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้
Organic Farming Maejo University : OM
 ค้นหา | หน้าแรก   
 
 
» หน้าแรก
» ประวัติความเป็นมา
» ค้นหาเกษตรกรอินทรีย์
» ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์
» ข่าว/บทความเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
» งานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์
» เว็บไซต์เกษตรอินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง
» vdo เกษตรอินทรีย์
» facebook สถาบัน IQS แม่โจ้
» คณะทำงาน
» สำหรับผู้ดูแลระบบ
 
 
หลักการและเหตุผล

                      ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าอาหารโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่น ของข้อได้เปรียบทางด้านการเกษตรทั้งในด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศ จึงเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารที่สำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกประมาณ 9 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7-8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูงสุดของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดโดยในปี พ.ศ. 2555 มีการจ้างงานกว่า 900,000 คน ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องเผชิญ  กับความท้าทายที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดภายในและปัจจัยภายนอก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยส่วนใหญ่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและตั้งกระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการผลิตอาหารให้ได้คุณภาพและมีความปลอดภัย  ขาดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม อีกทั้งคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังต้องเผชิญแรงกดดันที่ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกลดลง เช่น ความเข้มงวดของประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร การกำหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิต รวมถึงการควบคุมวัตถุดิบ  และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากประเทศคู่แข่งที่มีศักยภาพสูงขึ้นในการผลิตอาหารแปรรูป

       
      ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้แก่อุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้ผลิตด้านการเกษตร) กลางน้ำ (ผู้แปรรูป) และปลายน้ำ (ผู้จำหน่ายสินค้า) ไปสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างเครือข่ายรวมกลุ่มในการพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความแตกต่างและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อาหาร

            โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ (Thailand Food Valley: TFV) เป็นโครงการหนึ่งในนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารของไทยโดยมีวิสัยทัศน์ คือ ประเทศไทยมีเครือข่ายฟู้ดวัลเลย์ที่มีเอกลักษณ์ของสินค้าจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมีเป้าหมายในการพัฒนาคือ 1) มีเครือข่ายความร่วมมือ การพัฒนาสินค้าอาหาร สินค้าเกษตร ระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาครัฐ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภายในและระหว่างประเทศ 2) มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเชิงพื้นที่ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร พร้อมกับยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานที่กำหนด 3) เพิ่มงานวิจัยสินค้าอาหารเกษตรใหม่ ที่ตอบสนองต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค และผู้ผลิตในกลุ่มต่างๆ และเพิ่มการนำงานวิจัย นวัตกรรม มาต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4) สร้างกลไกในการรวบรวม เชื่อมโยงงานวิจัย องค์ความรู้ด้านอาหารที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิต เพื่อนำไปประยุกต์สู่การผลิต โดยกำหนดพื้นที่   ที่มีศักยภาพไว้ 5) พื้นที่ คือ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน  กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มจังหวัด  ภาคกลาง กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง  และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยการทำงานจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและพื้นที่ยากจน

                     ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำกิจกรรม สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปภายใต้โครงการ TFV” ขึ้น เพื่อดำเนินการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

  1. วัตถุประสงค์
             เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการรวมกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ในพื้นที่เป้าหมาย TFV และหาแนวทางร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

 

  1. กลุ่มเป้าหมาย
           

    1. วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

    2. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

    3. สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    4. สมาคม ชมรมการค้าที่เกี่ยวข้อง

    5. สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง

 

       
สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถ.เชียงใหม่-พร้าว
อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290 โทรศัพท์ (053) 875640 โทรสาร (053) 875640